เบื้องต้น ของ แอนน์ สมเด็จพระราชินีนาถแห่งบริเตนใหญ่

ทรงพระเยาว์

ซาราห์ เชอร์ชิล ดัชเชสแห่งมาร์ลบะระ พระสหายสนิทของพระราชินีนาถแอนน์พระเจ้าเจมส์ที่ 2 พระราชบิดาของพระราชินีนาถแอนน์จอห์น เชอร์ชิล ดยุกแห่งมาร์ลบะระ นายทัพและนักการเมืองคนสำคัญในรัชสมัยของพระราชินีนาถแอนน์

สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์พระราชสมภพเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1665 ที่พระราชวังเซนต์เจมส์ในกรุงลอนดอน เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่สองของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ และเลดี้แอนน์ ไฮด์ พระมเหสีพระองค์แรก ทรงเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าชาลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ และเป็นพระขนิษฐาของพระราชินีนาถแมรีที่ 2 อีกด้วย พระราชินีนาถแอนน์และพระราชินีนาถแมรีเป็นพระราชธิดาเพียงสองพระองค์ของพระเจ้าเจมส์เท่านั้นที่ทรงมีพระชนม์ชีพมาจนโต [1]

ขณะยังทรงพระเยาว์ เจ้าหญิงแอนน์ทรงถูกส่งไปฝรั่งเศสเมื่อเพื่อรักษาโรคพระเนตรอักเสบ ขณะประทับอยู่ที่ฝรั่งเศสนั้น ทรงประทับอยู่กับพระอัยกี พระราชินีเฮนเรียตตา มาเรียในพระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ เมื่อพระราชินีเฮนเรียตตาสิ้นพระชนม์จึงทรงย้ายไปประทับอยู่กับพระปิตุจฉาเจ้าหญิงเฮนเรียตตา แอนน์ สจวต จนเสด็จกลับสู่อังกฤษเมื่อปี 1670

สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ใน ค.ศ 1687

ราวปี 1673 เจ้าหญิงแอนน์ทรงได้รู้จักกับซาราห์ เจ็นนิงส์ ผู้กลายมาเป็นพระสหายคนสนิทและเป็นที่ปรึกษาผู้มีอิทธิพลมากที่สุดเกือบตลอดพระชนม์ชีพคนหนึ่งของพระองค์[2] ไม่ทรงถือพระองค์ว่าเป็นเจ้านายกับซาราห์เห็นได้จากการที่สตรีสองคนนี้มีชื่อเล่นให้แก่กันว่า มิสซิสมอร์ลีย์ และ มิสซิสฟรีแมน[3]ภายหลังซาราห์ได้สมรสกับจอห์น เชอร์ชิล ผู้ที่ต่อมาจะได้เป็นดยุกแห่งมาร์ลบะระ แม่ทัพผู้มีความสามารถคนสำคัญของอังกฤษคนหนึ่ง[4]

ในปี 1673 พระราชบิดาของเจ้าหญิงแอนน์ได้ทรงเปลี่ยนไปนับถือนิกายโรมันคาทอลิก แต่ยังทรงมีพระราชโองการให้พระราชธิดาทั้งสองให้ได้รับการเลี้ยงอย่างเคร่งครัดในนิกายโปรเตสแทนต์[5]

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 1683 เจ้าหญิงแอนน์อภิเษกสมรสกับ เจ้าชายจอร์จแห่งเดนมาร์ก ผู้เป็นโปรเตสแทนต์และพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดินเดนมาร์ก (พระเจ้าคริสเตียนที่ 5) [6]

การขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าเจมส์ที่ 2

เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 สวรรคตเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1685 หลังจากที่ทรงเปลี่ยนไปนับถือนิกายโรมันคาทอลิกก่อนสวรรคต พระราชบิดาของเจ้าหญิงแอนน์ขึ้นเสวยราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ[7] แต่พระเจ้าเจมส์ไม่ทรงเป็นที่นิยมของประชาชนชาวอังกฤษด้วยเหตุที่ทรงเป็นคริสศานิกชนโรมันคาทอลิก[8] ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนมีความหวาดระแวงเพิ่มขึ้นเมื่อพระชายาพระองค์ที่สอง แมรีแห่งโมดีนา ผู้เป็นโรมันคาทอลิก[9] ทรงให้ประสูติกาลพระราชโอรส เจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจวต เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 1688 จึงทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่ามีความเป็นไปได้สูงที่อังกฤษจะกลับไปเป็นราชอาณาจักรโรมันคาทอลิก[10]

ขณะนั้นเจ้าหญิงแอนน์ ไม่ได้ทรงประทับอยู่ที่กรุงลอนดอนแต่อยู่ที่เมืองบาธ และมีข่าวลือกันว่าพระราชโอรสไม่ใช่พระราชโอรสที่แท้จริง แต่เป็นเด็กที่ถูกลักลอบนำเข้ามาแทนที่พระราชโอรสที่สิ้นพระชนม์หลังคลอด แต่ก็ไม่มีหลักฐานอะไรที่สนับสนุนข่าวลือนี้ และสาเหตุที่แท้จริงที่แมรีไม่อยู่ในกรุงลอนดอนอาจจะเป็นได้ว่าพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ไม่ทรงต้องการให้โปรเตสแทนต์เข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ของรัฐ[11] แมรีทรงประท้วงความมีสิทธิของพระอนุชาอย่างเป็นทางการ แอนน์เองก็ทรงเขียนถึงพระเชษภคินีแมรีว่า

"หม่อมฉันจะไม่มีทางทราบอย่างแน่นอนว่าเด็กคนนี้จะเป็นพระราชโอรสจริงหรือไม่ เด็กคนนี้อาจจะเป็นพระอนุชาของเรา แต่พระเจ้าเท่านั้นที่จะทราบ .... ใครก็ช่วยไม่ได้ที่จะมีความรู้สึกกลัวกันไปร้อยแปดพันประการ แต่ไม่ว่าเหตุการณ์จะเป็นไปในทางใด ก็ขอให้เชื่อได้ว่าหม่อมฉันก็ยังคงเชื่อมั่นในความเชื่อทางศาสนาเช่นที่เป็นอยู่และจะมีความจงรักภักดีต่อไป" [12]

ในที่สุดเจ้าหญิงแมรีพระเชษภคินีและพระสวามีได้เสด็จกลับจากเนเธอร์แลนด์เพื่อมาโค่นราชบัลลังก์ของพระราชบิดาระหว่างการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ตามคำอัญเชิญลับของ “ผู้อัญเชิญทั้งเจ็ด” (Immortal Seven) ซึ่งเป็นกลุ่มขุนนางโปรเตสแทนต์

การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์

เจ้าหญิงแอนน์ทรงถูกพระเจ้าเจมส์ที่ 2 สั่งห้ามไม่ให้เสด็จไปเยี่ยมเจ้าหญิงแมรีที่เนเธอร์แลนด์ในฤดูใบไม้ผลิของปี 1688 แต่ทั้งสองยังคงทรงเขียนจดหมายติดต่อกันและเจ้าหญิงแอนน์เองคงจะทรงทราบถึงแผนการการรุกรานของพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 เป็นที่เชื่อกันว่าพระกรณียกิจของแอนน์ระหว่างช่วงเวลานี้มีอิทธิพลมาจากคำแนะนำที่ถวายโดยซาราห์และจอห์น เชอร์ชิล[13]—แอนน์ไม่ทรงแสดงความสนับสนุนพระเจ้าเจมส์ที่ 2 เมื่อเจ้าชายวิลเลียมเสด็จขึ้นฝั่งอังกฤษในเดือนพฤศจิกายน 1688 แต่กลับทรงเขียนถึงเจ้าชายวิลเลียมประกาศสนับสนุนการรุกรานของพระองค์ เชอร์ชิลลาออกจากการเป็นข้าราชสำนักของพระเจ้าเจมส์เมื่อวันที่ 24 ในเดือนเดียวกัน, เจ้าชายจอร์จแห่งเดนมาร์กพระสวามีของแอนน์ทรงลาออกวันรุ่งขึ้น เมื่อพระเจ้าเจมส์เสด็จกลับลอนดอนในวันที่ 26 ก็ทรงพบแอนน์และนางสนองพระโอษฐ์ทรงทำเช่นเดียวกันในคืนวันที่ 25[14] พระเจ้าเจมส์จึงทรงสั่งให้กักแอนน์และนางสนองพระโอษฐ์ไว้ในพระราชวังไวท์ฮอล แต่แอนน์และนางสนองพระโอษฐ์ก็หนีออกทางบันไดหลังไปพักที่บ้านบาทหลวงแห่งลอนดอนอยู่คืนหนี่งก่อนที่จะไปถึงนอตติงแฮมเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมก่อนที่จะทรงประกาศอย่างเป็นทางการว่าไปถึงที่นั่นแล้ว และทรงแต่งตั้งคณะมนตรี จากนั้นก็เสด็จไปเฝ้าเจ้าชายวิลเลียมและกองกำลังติดตามมาที่ออกซฟอร์ด แอนน์ก็เช่นเดียวกับแมรีทรงถูกตำหนิว่าไม่ทรงแสดงความกังวลต่อการหลบหนีของพระเจ้าเจมส์แต่ก็ให้เหตุผลในการกระทำของพระองค์ว่าไม่ทรงชอบการแสดงว่ามีปัญหา แอนน์เสด็จกลับลอนดอนเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมเพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าวิลเลียมที่ 3

ในปี 1689 รัฐสภาประกาศว่าการหลบหนีของพระเจ้าเจมส์เป็นการสละราชสมบัติโดยปริยายฉะนั้นบัลลังก์จึงว่างลง รัฐสภาจึงถวายราชบัลลังก์แก่เจ้าหญิงแมรี แต่ทรงยอมรับร่วมกับพระสวามีซึ่งทำให้เป็นสมัยสองกษัตริย์สมัยเดียวในประวัติการปกครองแบบราชาธิปไตยของอังกฤษ[15] และทรงออกพระราชบัญญัติสิทธิ ค.ศ. 1689 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติการสืบราชบัลลังก์ที่กำหนดให้เจ้าหญิงแอนน์และผู้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์และพระเจ้าวิลเลียม ตามด้วยผู้สืบเชื้อสายของพระเจ้าวิลเลียมที่อาจจะมีในอนาคต

วิลเลียมและแมรี

ไม่นานหลังจากที่ทรงขึ้นครองราชย์ พระเจ้าวิลเลียมและพระราชินีแมรีได้พระราชทานรางวัลให้แก่จอห์น เชอร์ชิลโดยการแต่งตั้งให้เป็น “เอิร์ลแห่งมาร์ลบะระ” แต่การปฏิบัติของวิลเลียมและแมรีต่อซาราห์และจอห์น เชอร์ชิลในภายหลังไม่ดีนัก ในปี 1692 ทรงมีความสงสัยว่าลอร์ดมาร์ลบะระเป็นมีส่วนในการสนับสนุนการฟื้นฟูราชวงศ์สจวต (Jacobitism) พระราชินีนาถแมรีที่ 2 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปลดลอร์ดมาร์ลบะระออกจากทุกตำแหน่ง เลดีซาราห์ มาร์ลบะระก็ถูกถอดจากตำแหน่งในพระราชวังตามสามีซึ่งทำให้เจ้าหญิงแอนน์กริ้วและประท้วงโดยการย้ายออกจากพระราชฐานไปประทับอยู่ที่ “บ้านไซออน” ซึ่งเป็นบ้านของดยุกแห่งนอร์ทธัมเบอร์แลนด์ ทหารรักษาพระองค์ของเจ้าหญิงแอนน์ซึ่งถูกปลดออกจากตำแหน่งเช่นกัน นอกจากนั้นทหารก็ยังถูกสั่งไม่ให้ถวายความเคารพต่อเจ้าชายจอร์จพระสวามีอีกด้วย[13]

เมื่อพระราชินีนาถแมรีที่ 2 สวรรคตด้วยโรคฝีดาษเมื่อปี 1694 พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 จึงทรงปกครองราชบัลลังก์ด้วยพระองค์เองต่อมา ส่วนเจ้าหญิงแอนน์นั้นได้ทรงกลายเป็นรัชทายาทอันดับหนึ่งไปโดยปริยายตามพระราชบัญญัติสิทธิ ค.ศ. 1689 เพราะผู้สืบเชื้อสายของพระเจ้าวิลเลียมและพระนางแมรี่ไม่ทรงมีรัชทายาท พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 ทรงพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับเจ้าหญิงแอนน์เพื่อเพิ่มความนิยมต่อประชาชนซึ่งไม่ทรงเคยได้รับเท่าเทียมกับพระชายา ทรงคืนบรรดาศักดิ์ต่างๆ ที่เจ้าหญิงแอนน์เคยทรงเป็น พร้อมกับทรงอนุญาตให้เจ้าหญิงแอนน์กลับมาประทับอยู่ที่พระราชวังเซนต์เจมส์ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ทรงให้เจ้าหญิงแอนน์ออกนอกหน้า และไม่ทรงยอมแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในยามที่ไม่ทรงสามารถปกครองด้วยพระองค์เองได้

ในปี 1695 ทรงเอาใจเจ้าหญิงแอนน์โดยพระราชทานตำแหน่งต่างๆ คืนให้กับลอร์ดมาร์ลบะระ เป็นการตอบแทนต่อการสนับสนุนของเจ้าหญิงแอนน์ต่อรัฐบาลของพระองค์ แต่ในระยะเดียวกันนี้ ในปี ค.ศ. 1696 ตามคำกล่าวอ้างของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 เมื่อเจ้าหญิงแอนน์ทรงใกล้ที่จะได้รับราชบัลลังก์ เจ้าหญิงแอนน์ทรงเขียนจดหมายถึงพระบิดาให้ทรงมาสวมมงกุฏเมื่อพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 สวรรคต และทรงสัญญาว่าจะทรงฟื้นฟูราชบัลลังก์เมื่อมีโอกาส[16] อีกข่าวลือหนึ่งที่ไม่มีหลักฐานก็ว่าพระเจ้าวิลเลียมทรงตั้งพระทัยที่จะยกราชบัลลังก์หลังจากเสด็จสวรรคตให้แก่พระโอรสของพระเจ้าเจมส์โดยมีข้อแม้ว่าให้การศึกษาแบบโปรเตสแตนต์ซึ่งเป็นข่าวลือที่อาจจะมีส่วนทำให้เจ้าหญิงแอนน์ทรงเป็นกังวลอยู่บ้าง[17]

พระราชบัญญัติการสืบสันตติวงศ์

ในช่วงเวลานี้เจ้าชายจอร์จและเจ้าหญิงแอนน์ทรงประสบปัญหาส่วนพระองค์เรื่องการมีพระโอรสธิดา จนกระทั่งปี 1700 เจ้าหญิงแอนน์ทรงพระครรภ์อย่างน้อย 18 ครั้งแต่ทรงตกถึง 13 ครั้ง และในบรรดาพระโอรสธิดา 5 พระองค์ที่รอดชีวิตมาได้ 4 พระองค์อยู่ได้เพียงไม่เกินสองปีก็สิ้นพระชนม์ พระโอรสองค์เดียวที่มีอายุยืนที่สุดก็คือ เจ้าชายวิลเลียม ดยุกแห่งกลอสเตอร์ที่สิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุได้ 11 พรรษาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 1700 สถานะการณ์นี้ทำให้เกิดวิกฤตการการสืบราชบัลลังก์ในอังกฤษ[1] พระเจ้าวิลเลียมและพระนางแมรีเองก็ไม่มีพระราชโอรสธิดา ฉะนั้นเจ้าหญิงแอนน์จึงทรงเป็นรัชทายาทแต่ผู้เดียวของราชบัลลังก์ที่ระบุในพระราชบัญญัติสิทธิ ค.ศ. 1689 ถ้าไม่มีการระบุรัชทายาทต่อจากเจ้าหญิงแอนน์ราชบัลลังก์ก็อาจจะตกไปเป็นของเจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจวต พระโอรสของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 “ผู้อ้างสิทธิเฒ่า” (Old Pretender) ผู้ที่อาจจะอ้างสิทธิในการครองราชบัลลังก์

เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้นับถือโรมันคาทอลิกขึ้นครองราชบัลลังก์รัฐสภาอังกฤษจึงออก พระราชบัญญัติการสืบสันตติวงศ์ ค.ศ. 1701 (Act of Settlement 1701) ซึ่งระบุว่าเมื่อสิ้นสุดเจ้าหญิงแอนน์ และพระราชโอรสธิดาในอนาคตของพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แล้ว ราชบัลลังก์จะต้องตกไปเป็นของเจ้าหญิงโซเฟียแห่งฮาโนเวอร์และผู้สืบเชื้อสายจากพระองค์ เจ้าหญิงโซเฟียเป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ทางพระราชธิดาเจ้าหญิงอลิซาเบ็ธ สจวต ทางรัฐสภามิได้พิจารณาพระประยูรญาติอีกหลายพระองค์เพราะทรงเป็นโรมันคาทอลิก เจ้าหญิงแอนน์ทรงยอมรับพระราชบัญญัติ[18]

พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 สวรรคตเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 1702 และเจ้าหญิงแอนน์ทรงได้รับการสวมมงกุฏเมื่อวันที่ 23 เมษายน[19]

แหล่งที่มา

WikiPedia: แอนน์ สมเด็จพระราชินีนาถแห่งบริเตนใหญ่ http://jacobite.ca/kings/james2.htm http://concise.britannica.com/ebc/article-9051033/... http://books.google.com/books?vid=OCLC02069656&id=... http://commons.wikimedia.org/wiki/Image:Blenheim_P... http://commons.wikimedia.org/wiki/Image:Castle_How... http://commons.wikimedia.org/wiki/Image:Painting_o... http://en.wikipedia.org/wiki/Henrietta_Anne_Stuart http://en.wikipedia.org/wiki/Image:Ordergarter.jpg